โครงการเทศกาลดนตรีสีสันโลก

ความเป็นมา

มนุษย์ผูกพันกับดนตรีอย่างลึกซึ้งนับตั้งแต่ลืมตาดูโลก ได้สัมผัสกับความรักจากอ้อมกอดและเสียงขับกล่อมอันอ่อนโยนของแม่ มนุษย์ได้ขับขานเสียงเพลงขึ้นในทุกๆโอกาส และทุกสถานที่ เพื่อแสดงถึงความรัก ความสนุกสนาน ความดีใจ หรือแม้แต่ความเศร้าโศก ในขณะที่บทเพลงขับขานขึ้นก็กลับกลายเป็นสื่อกลางที่เชื่อมโยงมนุษย์เข้าหากัน โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ ชนชั้น ไม่แยกจนหรือรวย ไม่แยกคนพิการหรือคนปกติ หลอมรวมหมู่มวลมนุษย์ทั่วโลกให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

งานมหกรรมดนตรีคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก (Asia Pacific Wataboshi Music Festival) คือ กิจกรรมที่เป็นความร่วมมือกันในระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมและเผยแพร่ศักยภาพการแสดงออกทางด้านดนตรีของคนพิการ เปรียบเสมือนสะพานที่เชื่อมโยงความแตกต่าง ความหลากหลาย สมานความสัมพันธ์ของมนุษย์ให้ก้าวไปสู่หนทางความรักและความเข้าใจ ซึ่งได้มีการริเริ่มขึ้นโดยประเทศญี่ปุ่น ใช้ชื่อว่า Wataboshi ซึ่งมาจากชื่อของพืชเล็กๆ ชนิดหนึ่ง ประเภท dandelion มีดอกสีเหลือง ขึ้นงอกงามแผ่กว้างกระจายอยู่ทั่วไปในญี่ปุ่นสร้างความงดงามแก่ผืนแผ่นดิน เปรียบเสมือนคนพิการซึ่งมีพลังสร้างสรรค์และมีคุณค่าแต่กลับถูกมองข้ามไป ด้วยบทเพลงของพวกเขาเหล่านี้จะโอบอุ้มผู้ฟังไว้ด้วยความรักที่งดงามนุ่มนวล แต่แฝงด้วยความเร้าใจ ความแกร่งแห่งชีวิตที่ดำรงอยู่ในโลกกว้างดุจเดียวกับดอก Wataboshi ที่ถูกนำมาใช้เป็นสื่อสัญลักษณ์ของมหกรรมดนตรีคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิกนั่นเอง

งานมหกรรมดนตรีคนพิการแห่งเอเซียและแปซิฟิก (Asia Pacific Wataboshi Music Festival) ร่วมกันจัดขึ้นโดยองค์กรที่ทำงานด้านคนพิการใน 16 ประเทศคือ ญี่ปุ่น เกาหลี จีน ฮ่องกง ไต้หวัน มาเก๊า สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ศรีลังกา เวียดนาม ลาว เขมร ไทย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยมีคุณฮาริมะ ยาซูโอะ จากประเทศญี่ปุ่น เป็นประธานโครงการ โดยแต่ละประเทศจะมีการคัดเลือกคนพิการเพื่อเป็นตัวแทนของประเทศเข้าร่วมแสดงความสามารถ ซึ่งได้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่ประเทศสิงคโปร์ ในปี 2534 จากนั้นได้มีการหมุนเวียนสลับกันเป็นเจ้าภาพจัดงานขึ้นทุกๆ 2 ปี และในปี พ.ศ. 2540 ประเทศไทยก็ได้เคยเป็นเจ้าภาพในการจัดงานเช่นกัน

หลักการและเหตุผล

ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า งานมหกรรมดนตรีคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก (Asia Pacific Wataboshi Music Festival) คือกิจกรรมความร่วมมือกันในระดับนานาชาติ ซึ่งได้จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ การแสดงออก และการเผยแพร่ศักยภาพทางด้านดนตรีของคนพิการสู่สังคมเพื่อเสริมสร้างทัศนคติที่ถูกต้อง การยอมรับและการตระหนักถึงความสามารถของคนพิการ โดยมุ่งเน้นการใช้ดนตรีเป็นสื่อกลางเชื่อมความสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจ ความเอื้ออาทร ระหว่างเพื่อนมนุษย์ในการอยู่ร่วมกัน ซึ่งล่าสุดในการจัดงานมหกรรมดนตรีคนพิการแห่งเอเชีย และแปซิฟิก ครั้งที่ 8 ณ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 9 – 11 พฤศจิกายน 2548 ที่ผ่านมานั้น คณะกรรมการจัดงานได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนและลงมติร่วมกันว่าในช่วงระยะเวลาระหว่าง 2 ปีของการจัดงานนั้น ควรจะมีความเคลื่อนไหวภายในของแต่ละประเทศ เพื่อความต่อเนื่องของกิจกรรมในการส่งเสริมศักยภาพของคนพิการทางด้านการสร้างสรรค์ผลงาน การแต่งเพลง ร้องเพลง และเล่นดนตรี และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่คนพิการก่อนที่จะเข้าร่วมงานมหกรรมดนตรีคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิกในครั้งต่อไปอีกด้วย

ดังนั้น จึงก่อเกิดเป็นโครงการ “เทศกาลดนตรีสีสันโลก” “World Colors music festival 2006” ซึ่งจะเป็นการฉลองสีสันและฝีมือของศิลปินพิการด้านต่างๆ ร่วมกับศิลปินรับเชิญต่างประเทศ เพื่อนำเสนอฝีมือของศิลปินพิเศษของไทยในงานที่มีคุณภาพ ไม่ว่าเป็นการวาด เป็นบทกลอน บทเพลง การฟ้อนรำ ที่เป็นการฉลองแบบไร้พรมแดนจริงๆ เพื่อเป็นการสร้างกระแสและความเคลื่อนไหว ในการพัฒนาศักยภาพการแสดงออกทางด้านดนตรีของคนพิการ

โดยที่ดนตรีจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาศักยภาพของคนพิการ เพื่อดึงเอาความสามารถภายในของแต่ละบุคคลออกมา เป็นการสร้างความมั่นใจ สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต และเป็นเครื่องมือที่จะใช้สื่อสารออกไปสู่สังคมได้ โดยในภาพรวมจะเป็นการจัดกิจกรรมการแสดงดนตรี ศิลปะ วัฒนธรรม การละเล่นพื้นเมืองของไทย มีซุ้มสาธิต แสดงงานศิลปหัตถกรรม และจำหน่ายสินค้า ผลงาน ภายในบริเวณงาน และโชว์ผลงานการแสดงบนเวที โดยคนพิการไทยที่มีความสามารถ และเชิญศิลปินคนพิการนานาชาติ จากประเทศเพื่อนบ้านเข้าร่วมแลกเปลี่ยนทำกิจกรรมด้วย ซึ่งคาดว่าในการสร้างกระแสความเคลื่อนไหวดังกล่าวนี้ นอกจากจะช่วยกระตุ้นให้คนพิการในประเทศไทยเกิดความตื่นตัวหันมาสนใจและพัฒนาการร้องเพลง, แต่งเพลง, การเล่นดนตรีอย่างจริงจังมากขึ้นแล้ว ยังเป็นการสร้างความร่วมมือของเครือข่าย ด้านดนตรี ศิลปะ และวัฒนธรรม ของคนพิการในประเทศไทยและระดับนานาชาติ โดยมีกิจกรรมดนตรีเป็นสื่อกลางอีกด้วย

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมการแสดงออกทางด้านดนตรี ศิลปะ และวัฒนธรรม ของคนพิการ
  2. เพื่อส่งเสริมสังคมให้ได้ตระหนักถึงความสามารถของคนพิการ
  3. เพื่อสร้างความร่วมมือของเครือข่าย ด้านดนตรี ศิลปะ และวัฒนธรรม ของคนพิการในประเทศไทยและระดับนานาชาติ

กลุ่มเป้าหมาย

คนพิการภายในประเทศ และประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง และบุคคลทั่วไปในสังคม

พื้นที่ดำเนินการ

สวนสันติชัยปราการ ถนนพระอาทิตย์ กรุงเทพมหานคร

ระยะเวลา

ระยะเวลาในการเตรียมกิจกรรม 1 – 2 วัน และจัดกิจกรรม 1 วัน ภายในวันเสาร์ที่ 9 ธันวาคม 2549 เวลา 10.00 – 22.00 น.

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

  1. คนพิการในประเทศไทยได้พัฒนาศักยภาพในการร้องเพลง แต่งเพลง และการเล่นดนตรีมากขึ้น
  2. สังคมได้ตระหนักถึงความสามารถของคนพิการ มีความเข้าใจ และยอมรับคนพิการมากขึ้น แสดงให้เห็นถึงภาพการทำงานร่วมกันระหว่างคนพิการและบุคคลปกติได้ดี
  3. เกิดเครือข่ายคนพิการภายในประเทศและในระดับภูมิภาคเอเชีย
  4. คนพิการหันมานิยมและใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ด้วยการเล่นดนตรี หรือจริงจังกับงานดนตรีมากขึ้น
  5. งานศิลปะดนตรีช่วยพัฒนาสุขภาพ จิตใจของคนพิการให้เข้มแข็งและแข็งแรงขึ้น

การขยายผล

  1. คนพิการมีการพัฒนาความรู้ ความสามารถทางด้านดนตรี และอาจสร้างผลผลิต จัดจำหน่าย เพื่อสร้างรายได้และยึดเป็นอาชีพเลี้ยงตัวได้ต่อไป
  2. อาจเกิดการรวมกลุ่มในการทำกิจกรรมด้านดนตรี ในระดับจังหวัด และภูมิภาค ภายในประเทศ

การประเมินผล

  • มีคนพิการสนใจเข้าร่วมกิจกรรมประกวดผลงาน และการแสดงบนเวที
  • ใช้สถิติผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมเป็นตัวชี้วัด
ย้อนกลับ