โครงการพัฒนาศักยภาพด้านดนตรี

หลักการและเหตุผล:

“การให้เงินคนพิการที่เล่นดนตรีอยู่ตามถนนอาจช่วยให้เขามีกินไปวันๆหนึ่ง แต่ก็อาจไม่ช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตพวกเขาได้ ถ้าเรารู้จักสนับสนุนให้ถูกที่ถูกทาง พวกเขาจะไปได้ไกลมากกว่านั้น”

จาก “โครงการพัฒนาความเป็นมืออาชีพด้านดนตรีของศิลปินคนพิการ” ของเครือข่ายศิลปะดนตรีคนพิการ (ศดพ.) ที่เกิดขึ้นในปี 2553-2555 ที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ (สสพ.) ด้วยความต้องการที่จะให้คนพิการมีโอกาสฝึกอาชีพด้านดนตรีและพัฒนาศักยภาพด้านดนตรีให้มีคุณภาพทัดเทียมกับงานดนตรีในตลาดกระแสหลักทั่วไป เพราะได้เล็งเห็นความมุ่งมั่นของคนพิการที่อยากเป็นผู้สร้างงานดนตรีที่มีคุณภาพเพื่อสร้างสรรค์ความบันเทิง รวมทั้งสร้างพลังและแรงบันดาลใจให้แก่คนที่มีความฝันเช่นเดียวกัน

จากโครงการดังกล่าว ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ ได้ผ่านกระบวนการฝึกฝนเพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะด้านดนตรี รวมทั้งได้มีโอกาสผลิตผลงานเพลงร่วมกันในอัลบั้มชุด Human Station ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของ ศดพ. และผู้เข้าร่วมโครงการฯ ที่มีโอกาสได้ร่วมทำงานกับบุคคลในวงการดนตรีทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ได้เรียนรู้กระบวนการทำงานเพลงอย่างมืออาชีพสัมผัสกับบรรยากาศการทำงานจริง นับเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่ายิ่ง รวมทั้งทำให้เห็นช่องทางและโอกาสในการทำงานด้านดนตรีที่มีความต่อเนื่องต่อไป อย่างไรก็ตาม การก้าวไปสู่ความเป็นมืออาชีพ หรือ ได้รับการยอมรับจากสังคมในศาสตร์ของดนตรีอย่างแท้จริงนั้น ต้องใช้เวลาในการฝึกฝนและทดลองทำ หรือ ทำซ้ำจนเกิดความชำนาญ

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาในการจัดทำโครงการ “พัฒนาศักยภาพด้านดนตรี” ขึ้นเพื่อขอรับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อที่จะพัฒนาต่อยอดจากโครงการฯ ที่ผ่านมา โดยเปิดโอกาสให้คนพิการหรือไม่พิการสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการฯ รุ่นใหม่เพื่อพัฒนาร่วมไปกับผู้เข้าร่วมโครงการฯ ในรุ่นแรกได้ รวมทั้งการเชื่อมโยงเครือข่ายและสร้างความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ อาทิ บุคคลที่ทำงานเกี่ยวข้องกับดนตรี บุคคลในวงการบันเทิง/สื่อสารมวลชน/การประชาสัมพันธ์และการตลาด ฯลฯ เพื่อยืนยันในหลักการทำงานแบบ Inclusive Art (การทำงานศิลปะร่วมกับคนที่หลากหลาย) ที่ ศดพ. เชื่อมั่นว่ามนุษย์ทุกคนที่แตกต่างหลากหลายสามารถอยู่ร่วมกันได้หากเราเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

การดำเนินงานในโครงการฯ นี้จะเน้นหนักไปที่การฝึกอบรมพัฒนาทักษะและความรู้ในด้านดนตรีและทำงานเพลงให้มากขึ้น รวมทั้งฝึกฝนทดลองการทำงานผลิตผลงานเพลงในห้องบันทึกเสียงที่ ศดพ. ควบคู่กันไป จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการคัดสรรทีมเพื่อผลิตผลงานเพลงแบบคุณภาพตามมาตรฐานงานดนตรีในกระแสหลักเพื่อเผยแพร่สร้างกระแสในสังคมภายใต้ชื่อของ Human Station โดยการนำเสนอจากคนพิการหรือศิลปินรับเชิญที่เหมาะสม สำหรับผู้ที่มีเอกลักษณ์ในการทำงานเพลงที่แตกต่างออกไปจากตลาดเพลงหลักและผู้ที่ยังต้องพัฒนาต่อเนื่องก็สามารถฝึกฝนการทำงานเพลง รวมไปถึงผลิตผลงานเพลงร่วมกับ ศดพ. ได้ต่อไป เพื่อที่จะสร้างผลงานของตนเองหรือ เพื่อก้าวไปสู่การผลิตผลงานภายใต้ชื่อ Human Station ในรุ่นถัดไป หรือสามารถก้าวเข้าสู่อาชีพการทำงานดนตรีในอนาคตได้

สำหรับในส่วนของการทำเวิร์คช็อปผลิตงานเพลงในห้องบันทึกเสียงนี้ ศดพ. จะจัดเตรียมระบบสนับสนุนทั้งด้านบุคลากรและเครื่องมือ/อุปกรณ์ โดยใช้ห้องบันทึกเสียงขนาดเล็กของ ศดพ. เป็นหลัก ทั้งนี้ ศดพ. มุ่งหวังว่าผู้ที่เข้ามาร่วมโครงการฯ จะเติบโตอย่างต่อเนื่องในวงการดนตรี เพื่อที่จะได้ทำเป็นอาชีพอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี สามารถดูแลชีวิตของตนเองและครอบครัว พร้อมกับทำประโยชน์ให้กับชุมชนและสังคมได้ สิ่งที่ ศดพ. เชื่อมั่นมาตลอดการทำงานก็คือ “ทุกคนมีศักยภาพและพัฒนาได้ พวกเขาต้องการเพียงโอกาสเท่านั้น”

วัตถุประสงค์หลัก:

  1. เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านดนตรีของคนพิการและไม่พิการที่เข้าร่วมโครงการ
  2. เพื่อผลิตศิลปินและผลงานเพลงที่มีคุณภาพได้มาตรฐานงานดนตรีในกระแสหลัก
  3. เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้การอยู่ร่วมกันระหว่างคนพิการและไม่พิการผ่านกิจกรรมด้านดนตรี

กิจกรรม:

  1. อบรมบ่มฝัน
  2. เพาะฝี(มือ)ไว้ต่อฝัน
  3. ซิงเกิ้ลส่งฝัน…ปั้นดาว
  4. พัฒนาศักยภาพบุคลากร

กลุ่มเป้าหมาย:

กลุ่มผู้รับประโยชน์จากโครงการ (Beneficiaries):

  1. คนพิการและไม่พิการในประเทศไทย จำนวน 30-40 คนที่มีความสามารถด้านดนตรี เช่น แต่งเพลง,ร้องเพลง, เล่นดนตรี, บันทึกเสียง, คอมพิวเตอร์ดนตรี ฯลฯ ในสัดส่วนคนพิการร้อยละ 80 และคนไม่พิการร้อยละ 20
  2. คณะทำงานของเครือข่ายศิลปะดนตรีคนพิการ จำนวน 5 คน

กลุ่มเป้าหมายที่จะร่วมทำงาน:

  1. คนที่ทำงานเบื้องหน้าและเบื้องหลังในวงการดนตรี
  2. บุคคลในวงการบันเทิง/สื่อสารมวลชน
  3. กลุ่มคน/องค์กรภาครัฐและเอกชน
  4. คนพิการและไม่พิการที่สนใจหรือเกี่ยวข้องกับดนตรี

ระยะเวลา

2 ปี (1 กุมภาพันธ์ 2556 – 31 มกราคม 2558)

เป้าหมายระยะสั้น

สร้างคน สร้างผลงาน องค์กรแข็งแรงมั่นคง

เป้าหมายระยะยาว

เป็นองค์กรธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่ส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานดนตรีของคนพิการอย่างมืออาชีพทั้งในระดับประเทศและอาเซียน

แผนยุทธศาสตร์ POINT:

จากผลการทำงานในช่วงปี 2549 – 2555 ที่ผ่านมาของ ศดพ. ได้เกิดปรากฎการณ์ที่สำคัญด้านการขับเคลื่อนงานดนตรีของคนพิการในสังคมซึ่งสามารถสรุปเป็นผลลัพธ์ที่สำคัญ 5 ด้าน ทั้งนี้ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น 5 ข้อนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการทำงานเท่านั้น ศดพ. และภาคีเครือข่ายจึงต้องผลักดันให้ผลลัพธ์ดังกล่าวชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ดังนี้

  1. Platform: สร้างพื้นที่และเวทีให้แก่คนพิการและไม่พิการที่สนใจดนตรีได้มารวมตัวกันเพื่อเรียนรู้ ทำงาน พัฒนาตนเองและแสดงออก ตลอดจนเป็นพื้นที่กลางที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมตามความสนใจและความถนัด
  2. Occupation: ส่งเสริมให้เกิดอาชีพด้านดนตรีของคนพิการที่เป็นรูปธรรม พัฒนาให้เป็นมืออาชีพเพื่อให้เกิดรายได้ที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างโอกาสที่เท่าเทียมกันและมีหลักประกันในชีวิตที่มั่นคง
  3. Inspiration: สร้างแรงบันดาลใจและจุดประกายความฝัน-ความหวังให้แก่คนพิการและไม่พิการในสังคมผ่านการทำงานดนตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ศิลปินต้นแบบที่จะเป็นผู้ส่งผ่านและแพร่กระจายพลังแห่งความฝันและความหวังในชีวิตให้กับทุกๆ คนที่ได้สัมผัส
  4. Network: สร้างเครือข่ายคนทำงานด้านดนตรีของคนพิการ ไม่ว่าจะเป็นมืออาชีพด้านดนตรี ศิลปิน สื่อสารมวลชน องค์กรภาครัฐ-เอกชน คนพิการ/ไม่พิการเพื่อสนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกัน
  5. Trend: สร้างกระแสงานดนตรีของคนพิการในลักษณะของการขับเคลื่อน (Movement) ให้เกิดขึ้นในสังคมด้วยแบรนด์ที่มีเอกลักษณ์ โดดเด่นและแตกต่าง

พันธกิจหลักของโครงการ:

  1. จัดอบรม/เวิร์กช็อปที่เกี่ยวกับการผลิตงานเพลงและดนตรีโดยวิทยากรมืออาชีพ
  2. สร้างโครงการตัวอย่างเพื่อเรียนรู้และฝึกปฏิบัติการทำงานเพลงอย่างมืออาชีพ (learning by doing)
  3. สร้างและพัฒนาศิลปินคนพิการต้นแบบ
  4. สร้างภาพลักษณ์ของคนพิการที่สร้างสรรค์ต่อสังคมจากการทำงานเพลง
  5. สร้างหรือปรับเปลี่ยนสถานที่ทำงานให้เอื้อต่อการทำงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์
  6. จัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ดนตรีสำหรับการสร้างงานอย่างมืออาชีพ
  7. สร้างรายได้และสวัสดิการให้แก่บุคลากรให้ทำงานได้อย่างมีความสุข
  8. สร้างต้นแบบธุรกิจเพลงในรูปแบบของธุรกิจเพื่อสังคม

ผลผลิตของโครงการ

  • โครงสร้างหลักสูตรการฝึกอบรมต้นแบบ
  • ศิลปินต้นแบบ
  • นักดนตรี
  • ทีมผลิตงานเพลง
  • วิทยากร
  • ผลงานเพลง 5 ซิงเกิ้ล
  • อัลบั้มเพลงภายใต้การผลิตของ Human Station

ตัวชี้วัดของโครงการ

  • เกิดรูปธรรมอาชีพด้านดนตรี เช่น คนพิการสามารถรับผลิตงานเพลง (ให้กับศิลปิน/หน่วยงาน/รายการวิทยุหรือโทรทัศน์ ฯลฯ) เป็นศิลปินทำงานเฉพาะทางในห้องบันทึกเสียง (เช่น เล่นดนตรี คอรัส ฯลฯ) สอนดนตรีหรือเป็นวิทยากรด้านดนตรี พากย์โฆษณาหรืองานที่เกี่ยวกับการใช้เสียง ฯลฯ
  • เกิดกลุ่มคนดนตรีที่เข้มแข็งของคนพิการอย่างน้อย 1 กลุ่ม
  • เกิดศิลปินต้นแบบ (Idol) ของโครงการอย่างน้อย 1 คน/กลุ่ม
ย้อนกลับ