โครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในชุมชนด้วยศิลปะดนตรีโดยคนพิการ

หลักการและเหตุผล

สังคมไทยส่วนใหญ่มีทัศนคติต่อคนพิการว่า เป็นบุคคลที่น่าสงสาร ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองและเป็นภาระต่อสังคม ทัศนคติดังกล่าวเป็นอุปสรรคในการพัฒนาและส่งเสริมให้คนพิการใช้ชีวิตอย่างเป็นอิสระ และอยู่ร่วมกับบุคคลทั่วไปในสังคมอย่างเท่าเทียมและมีศักดิ์ศรี

ตลอดจนมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและการเห็นคุณค่าของตนเองของคนพิการ รวมทั้งมีผลกระทบต่อสังคม ในการสนับสนุนและส่งเสริมคนพิการให้ช่วยเหลือตนเองอย่างถูกต้องและถูกวิธี การสร้างทัศนคติที่ดีจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการพัฒนาคนพิการ

เครือข่ายศิลปะดนตรีคนพิการ เกิดจากการรวมตัวของคนพิการที่รักดนตรีและศิลปะ และใช้ดนตรีเป็นสื่อกลางในการสื่อสารเพื่อให้สังคมได้เห็นความสามารถของคนพิการ ตลอดจนการฝึกอบรมพัฒนาคนพิการที่สนใจดนตรีและศิลปะ โดยจัดการฝึกอบรมให้คนพิการได้รู้จักการร้องเพลง เล่นดนตรี และแต่งเพลงเพื่อสื่อสารความเป็นตัวตนของคนพิการและสื่อสารกับสังคม เพื่อให้สังคมเห็นคุณค่าและความสามารถของคนพิการ

เครือข่ายศิลปะดนตรีคนพิการได้จัดการแสดงดนตรีร่วมกับศิลปินไม่พิการในกิจกรรมต่างๆ ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ นำเสนอบทเพลงที่แต่งโดยคนพิการ ผลิตซีดีผลงานเพลงของคนพิการ และเผยแพร่ลงในสื่อต่างๆ เช่น วิทยุ และโทรทัศน์

ดนตรีได้กลายเป็นสื่อกลางในการพัฒนาคนพิการและขณะเดียวกันก็เป็นสื่อกลางในการสื่อสารกับสังคม และสร้างทัศนคติที่ดีต่อคนพิการ จากประสบการณ์การทำงานดังกล่าว เครือข่ายศิลปะดนตรีคนพิการตระหนักดีว่า คนพิการทุกคนมีศักยภาพในการเรียนรู้และมีศักยภาพในการที่จะเป็นผู้ให้และแบ่งปันกับผู้อื่นไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นคนพิการหรือไม่ และการที่คนพิการได้มีโอกาสในการเป็นผู้ให้ผู้อื่นนั้นจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่น การเห็นคุณค่า การเคารพตนเองและผู้อื่นได้ดีที่สุดแก่ตัวคนพิการเอง ในขณะเดียวกันก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของสังคมต่อคนพิการในระดับรากฐาน

ทั้งนี้ เครือข่ายศิลปะดนตรีคนพิการมองเห็นว่าเด็กและเยาวชนที่อยู่ในชุมชนนั้นเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อสิ่งยั่วยุต่างๆ เช่น สิ่งยั่วยุทางเพศ ยาเสพติด อาชญากรรม ซึ่งเด็กและเยาวชนเหล่านี้อาจมีปัญหาที่รุนแรงกว่าคนพิการ ดังนั้น เครือข่ายศิลปะดนตรีคนพิการจึงเล็งเห็นว่าการใช้ดนตรีและศิลปะจะเป็นสื่อที่มีพลังในการดึงให้เด็กและเยาวชนหันมาสนใจและทำกิจกรรมทางด้านดนตรีและศิลปะ เพื่อให้เกิดการพัฒนาตนเองจากภายในจิตใจ การสอนให้เด็กแต่งเพลงจะช่วยให้เด็กสามารถถ่ายทอดความรู้สึก การสื่อสารความต้องการของตนเอง สื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจผ่านบทเพลง และเป็นการสร้างโอกาสและความเชื่อมั่นให้กับเด็กและเยาวชน นอกจากนี้การที่เด็กและเยาวชนได้เห็นคนพิการมาเป็นครูในการฝึกสอนดนตรี จะทำให้เด็กและเยาวชนได้เล็งเห็นผู้ที่มีปัญหาและความยากลำบากกว่าแต่กลับมีพลังและจิตใจที่เข้มแข็ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นแบบอย่างที่ดีที่สุดในการสร้างสรรค์เด็กและเยาวชนเหล่านี้ ในขณะเดียวกันคนพิการก็ได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองจากการเป็นผู้ให้และแบ่งปันกับเด็กและเยาวชนที่แม้จะไม่พิการ แต่ก็มีปัญหาที่รุนแรงไม่น้อยกว่าคนพิการ

เครือข่ายศิลปะดนตรีคนพิการจึงได้จัดทำ โครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในชุมชนด้วยศิลปะดนตรีโดยคนพิการ เพื่อให้คนพิการได้ใช้ศักยภาพด้านศิลปะและดนตรีในการพัฒนาเด็กและเยาวชนในชุมชน เกิดกระบวนการเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างเด็กและเยาวชนในชุมชนกับคนพิการ เกิดกระบวนการเรียนรู้ใหม่ทางสังคมต่อคนพิการและจะเป็นรูปแบบและแนวทางในการพัฒนางานทางด้านคนพิการ เด็กและเยาวชนในชุมชนในอนาคตต่อไป

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อให้คนพิการได้ใช้ศักยภาพของตนเองด้านดนตรีและศิลปะ เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจและความรู้สึกเคารพต่อตนเอง (Self-confidence/Self-esteem) แก่คนพิการ
  2. เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนที่ขาดโอกาสในชุมชนผ่านดนตรีและศิลปะ และปลูกฝังจิตสำนึกให้เยาวชนให้ห่างไกลจากยาเสพติดและอบายมุขต่าง ๆ โดยการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
  3. เพื่อให้เด็กและเยาวชนในชุมชนได้เรียนรู้และปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อคนพิการ โดยใช้กิจกรรมดนตรีและศิลปะรวมทั้งกิจกรรมการฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้ต่อคนพิการเป็นกิจกรรมสร้างเสริมความสัมพันธ์
  4. เพื่อสร้างกระบวนการการเรียนรู้ทางสังคมต่อบทบาท ศักยภาพและคุณค่าของคนพิการ

กลุ่มเป้าหมาย

  1. เด็กและเยาวชนในชุมชน คนพิการ จำนวน 60 คน
  2. วิทยากร/ครูผู้ฝึกสอน/ผู้ช่วย คนพิการ จำนวน 5 – 10 คน

พื้นที่เป้าหมาย

ชุมชนหมู่บ้านซอยอมรพันธ์ 9 (ในซอยโชคชัย 4 ลาดพร้าว)

ระยะเวลาโครงการ

6 เดือน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ถึง เดือนธันวาคม 2551

กิจกรรม

  1. การจัดกระบวนการกลุ่ม
    เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทัศนะการใช้ชีวิต การใช้ดนตรีและศิลปะเพื่อการสร้างสรรค์ ระหว่างกลุ่มเยาวชน คนพิการ และวิทยากร/ครูผู้ฝึกสอนซึ่งเป็นคนพิการ
  2. หลักสูตรการฝึกอบรมความเสมอภาคคนพิการ (Disability Equality Training-DET)
    เป็นหลักสูตรระยะสั้น 1 วัน โดยจะจัดให้มีการฝึกอบรมนี้ทุกครั้งก่อนเริ่มต้นกิจกรรมใหม่ เนื้อหาของหลักสูตรจะเน้นการปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อคนพิการให้เป็นเชิงบวก รวมทั้งเรียนรู้สิทธิและความเสมอภาคของคนพิการ
  3. หลักสูตรดนตรีและวิชาที่สอน
    • หลักสูตรกีตาร์อะคูสติก 36 ชั่วโมง (3 เดือน) สอนทุกวันอาทิตย์ๆ ละ 3 ชั่วโมง กลุ่ม 20 คน/ครู 2 – 3 คน เริ่มเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2551
    • หลักสูตรการแต่งเพลงและคอมพิวเตอร์ดนตรี 36 ชั่วโมง (3 เดือน) สอนทุกวันอาทิตย์ ๆ ละ 3 ชั่วโมง กลุ่ม 20 คน/ครู 2 – 3 คน เริ่มเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2551

    ผู้สอน: ทีมงานเครือข่ายศิลปะดนตรีคนพิการและเครือข่ายนักดนตรีอาชีพ
    สถานที่: ชุมชนหมู่บ้านอมรพันธ์ 9

  4. หลักสูตรศิลปะและวิชาที่สอน
    • การตกแต่งเสื้อยืดและกระเป๋าผ้าเพื่อเพิ่มมูลค่าด้วยวัสดุ เช่น ผ้าสักหลาด กระดุม ลูกปัด ไหม ฯลฯ หลักสูตร 60 ชั่วโมง (3 เดือน) สอนทุกวันอาทิตย์ๆ ละ 5 ชั่วโมง กลุ่ม 10 คน/ครู 1 – 2 คน เริ่มเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2551
    • การตกแต่งเสื้อยืดและกระเป๋าผ้าเพื่อเพิ่มมูลค่าด้วยการเพ้นท์สีอะคริลิก/สีน้ำมัน หลักสูตร 60 ชั่วโมง (3 เดือน) สอนทุกวันอาทิตย์ อาทิตย์ละ 5 ชั่วโมง กลุ่ม 10 คน/ครู 1 – 2 คน เริ่มเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2551

    ผู้สอน: ทีมงานชมรมคนพิการรักงานศิลป์
    สถานที่: ชุมชนหมู่บ้านอมรพันธ์ 9

  5. จัดการแสดงดนตรีและนิทรรศการผลงานศิลปะ
    หลังจบหลักสูตร 6 เดือน เครือข่ายศิลปะดนตรีคนพิการจะรวบรวมและนำผลงานดนตรีและศิลปะ มาจัดการแสดงในรูปของการแสดงดนตรี (Concert) และการจัดนิทรรศการงานศิลปะร่วมกันโดยเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมชม
    สถานที่: ชุมชนหมู่บ้านอมรพันธ์ 9 และ/หรือที่อื่น ๆ ตามความเหมาะสม
  6. จัดทำซีดีผลงานเพลง
    เครือข่ายศิลปะดนตรีคนพิการจะรวบรวมและคัดเลือกผลงานจากเยาวชนผู้เข้ารับการฝึกอบรมให้ได้อย่างน้อย 10 เพลง โดยจะให้มีคณะกรรมการที่มีความเชี่ยวชาญด้านการแต่งเพลงและดนตรีเป็นผู้คัดเลือกผลงาน จากนั้นจึงจะดำเนินการผลิตเป็นซีดีเพลง 1 ชุด ซึ่งมีเนื้อหาที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อสังคม เช่น การลดภาวะโลกร้อน การไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดและการเสริมสร้างกำลังใจ เพื่อนำไปเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์สู่สังคม ผ่านทางสถานีวิทยุชุมชน สถานีวิทยุเอกชน หน่วยงาน องค์กร ภาคีเครือข่ายต่างๆ และจัดจำหน่ายภายในงานจัดแสดงดนตรีเพื่อหาทุนให้กับการทำกิจกรรมของเด็ก เยาวชนและคนพิการต่อไป
  7. การประชุมประเมินผลกิจกรรมการและการถอดบทเรียน
    เครือข่ายศิลปะดนตรีคนพิการจะจัดประชุมกับกลุ่มเป้าหมายเพื่อประเมินกิจกรรมทุกครั้งที่จบแต่ละกิจกรรม นอกจากนี้ เครือข่ายฯ จะจัดงานสัมมนาเพื่อสรุปผลการดำเนินกิจกรรมร่วมกับคนพิการ เยาวชนและชุมชน เพื่อถอดบทเรียนและจัดทำรายงานสรุปโครงการทั้งหมดเมื่อโครงการเสร็จสิ้นอีกด้วย

หมายเหตุ: เครือข่ายศิลปะดนตรีคนพิการเลือกใช้ชุมชนอมรพันธ์ 9 เป็นชุมชนเริ่มต้นเนื่องจากชุมชนมีความพร้อม มีสถานที่สำหรับทำกิจกรรม เช่น ลานกีฬาเอนกประสงค์และห้องประชุมภายในชุมชน ซึ่งเป็นสถานที่ที่ปลอดจากยาเสพติดและสิ่งมึนเมา ทั้งนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเขตลาดพร้าวอีกด้วย นอกจากนี้เครือข่ายฯ ก็ได้เริ่มหารือและทำงานร่วมในบางกิจกรรมกับชุมชนอยู่บ้างแล้ว

ความคาดหวังที่จะได้รับจากโครงการ

  1. เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านทัศนคติต่อคนพิการของชุมชนและสังคม
  2. เกิดความเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมของเยาวชนภายในชุมชน ค้นพบแนวทาง และความสามารถของตนเอง
  3. มีผลงานดนตรีและศิลปะของเด็ก เยาวชน คนพิการ และผู้ด้อยโอกาสในชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม
  4. มีแกนนำคนพิการและเยาวชนภายในชุมชนดำเนินงานสานต่อโครงการต่อไป
  5. เป็นกิจกรรมชุมชนต้นแบบในการพัฒนาชุมชนอื่นๆ ต่อไป

ตัวชี้วัด

  1. กิจกรรมจัดขึ้นภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในโครงการ
  2. จำนวนคนพิการ เด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมภายในชุมชน (วัดผลทุกครั้งหลังจากจบแต่ละกิจกรรม)
  3. จำนวนของกลุ่มเป้าหมายที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และหันมาใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ในการทำกิจกรรมด้านงานดนตรีและศิลปะ
  4. จำนวนผู้เข้าร่วมชมกิจกรรมการแสดงดนตรีและศิลปะในชุมชน
  5. ผลงานเพลงในรูปแบบซีดี 1 ชุด
ย้อนกลับ