โครงการศิลปะดนตรีเปลี่ยนชีวิต

ความเป็นมา

ปี พ.ศ. 2549 มูลนิธิเพื่อเด็กพิการและเครือข่ายศิลปะดนตรีคนพิการ โดยการสนับสนุนจากแผนงานสร้างเสริมสุขภาพคนพิการในสังคมไทยและสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ได้จัดงาน “เทศกาลดนตรีสีสันโลก” “World Colors Music Festival 2006” ขึ้น ณ สวนสันติชัยปราการ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมการแสดงดนตรี ศิลปะ วัฒนธรรมของไทย ที่ได้นำเสนอฝีมือของศิลปินพิการที่มีคุณภาพ ไม่ว่าเป็นด้านการวาด บทกลอน บทเพลง การลีลาศ ฟ้อนรำ โดยมีซุ้มสาธิต แสดงผลงานศิลปะ หัตถกรรม ภายในบริเวณงาน และภาคการแสดงบนเวที ซึ่งได้มีการเชิญเครือข่ายศิลปินคนพิการจากหลากหลายประเทศ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนทำกิจกรรมด้วย อาทิเช่น คณะ Mikan-no-Hana จากมูลนิธิ Tanpopo-No-Ye ประเทศญี่ปุ่น ดนตรีบำบัดจากประเทศพม่า และศรีลังกา ร่วมกับศิลปินรับเชิญมีชื่อเสียงทั้งในประเทศและต่างประเทศ

โดยในงาน “เทศกาลดนตรีสีสันโลก” นี้ นับเป็นกระแสความเคลื่อนไหวในการจัดเวทีแสดงงานด้านศิลปะและดนตรีของคนพิการไทย ที่มีความต่อเนื่องมาจากงานมหกรรมดนตรีคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิกวาตาโบชิ (Asia Pacific Wataboshi Music Festival) ซึ่งเป็นการแสดงความสามารถทางด้านดนตรีร่วมกัน โดยเหล่าศิลปินคนพิการตัวแทนของประเทศสมาชิกในเครือข่ายเอเชียและแปซิฟิกวาตาโบชิ อันเป็นความร่วมมือกันในระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกโดยองค์กรที่ทำงานด้านคนพิการ 15 ประเทศคือ ญี่ปุ่น เกาหลี จีน ฮ่องกง ไต้หวัน มาเก๊า สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ศรีลังกา เวียดนาม ลาว เขมร ออสเตรเลีย รวมทั้งประเทศไทยโดยมูลนิธิเพื่อเด็กพิการ ซึ่งได้สลับกันเป็นเจ้าภาพในการจัดงานทุก 2 ปี

ในการสร้างกระแสความเคลื่อนไหวดังกล่าวนี้เอง นอกจากจะช่วยกระตุ้นให้คนพิการในประเทศไทยเกิดความตื่นตัว หันมาสนใจพัฒนาศักยภาพทางศิลปะและดนตรีอย่างจริงจังมากขึ้นแล้ว ยังเกิดเครือข่ายความร่วมมือในงานดนตรี ศิลปะและวัฒนธรรมของคนพิการขึ้นทั้งภายในประเทศไทยและในระดับนานาชาติ รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ทางด้านดนตรีของคนพิการ เพื่อเผยแพร่ศักยภาพทางด้านดนตรีของคนพิการสู่สังคมเพื่อเสริมสร้างมุมมองและทัศนคติที่ถูกต้อง เพื่อให้เกิดการยอมรับและตระหนักถึงความสามารถของคนพิการอีกด้วย

นอกจากนั้นแล้ว เครือข่ายศิลปะดนตรีคนพิการ ซึ่งได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้จากการจัดงานดังกล่าวก็มีพัฒนาการและเกิดความเข้มแข็งมากขึ้น มีการดำเนินกิจกรรมและร่วมแสดงดนตรีตามวาระโอกาสต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น การเข้าร่วมงานมหกรรมดนตรีคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิกวาตาโบชิ (Asia Pacific Wataboshi Music Festival 2007) ที่ประเทศมาเลเซีย, การจัดงานดนตรีเปลี่ยนชีวิต ขึ้นในวันที่ 9 มีนาคม 2551 เพื่อแถลงข่าวเปิดตัวอย่างเป็นทางการให้แก่คุณสว่าง ศรีสม ศิลปินรายแรกกับผลงานเพลงชื่อชุด Love Season ภายใต้การดำเนินงานของเครือข่ายศิลปะดนตรีคนพิการ

ปัจจุบันนี้ เครือข่ายศิลปะดนตรีคนพิการ ร่วมกับชมรมคนพิการรักงานศิลป์และชมรมกลุ่มเพื่อน 2000 อยู่ในระหว่างการดำเนินงาน “โครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในชุมชนด้วยศิลปะดนตรีโดยคนพิการ” ซึ่งเป็นการจัดอบรมหลักสูตรศิลปะและดนตรีให้แก่เด็ก เยาวชน และคนพิการภายในชุมชนหมู่บ้านอมรพันธ์ 9 ซึ่งเป็นการนำศักยภาพของคนพิการในด้านศิลปะและดนตรีมาร่วมสร้างสรรค์ประโยชน์แบ่งปันสู่สังคม ทั้งยังเป็นโอกาสอันดีที่ได้ปลูกฝังทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับคนพิการให้แก่เด็กๆ และเยาวชน รวมถึงการกระตุ้นเตือนชุมชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ทำการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมเพื่อขจัดอุปสรรคของคนพิการให้ลดลง

หลักการและเหตุผล

เครือข่ายศิลปะดนตรีคนพิการ มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ ชมรมกลุ่มเพื่อน 2000 ชมรมคนพิการรักงานศิลป์ องค์การคนพิการสากลประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย ได้เล็งเห็นความสำคัญของศิลปะและดนตรีที่สามารถช่วยในการพัฒนาศักยภาพของคนพิการทั้งด้านกายภาพ จิตวิญญาณ จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ เสริมสร้างความมั่นใจ ความกล้าแสดงออก และทักษะในการปฏิสัมพันธ์กับผู้คน สังคม รวมทั้งประโยชน์จากการนำงานศิลปะและดนตรีมาใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารระหว่างคนพิการกับสังคม

นอกจากนี้ ความสำคัญของดนตรีและศิลปะนั้นยังได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานอีกอย่างหนึ่งของคนพิการในมาตราที่ 30 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการแห่งองค์การสหประชาชาติ (The United Nations Convention on the Right of Persons with Disabilities) อีกด้วย อนึ่ง ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ ฉบับนี้แล้วเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 และอนุสัญญาฯ มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2551 เป็นต้นมา

ด้วยเหตุที่งานศิลปะและดนตรีเป็นเครื่องมือสื่อสารที่เข้าถึงได้ทุกชนชาติ ภาษา และวัฒนธรรมโดยไม่มีการแบ่งแยก สามารถสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต แนวคิด อารมณ์ ความรู้สึก ก่อให้เกิดความสัมพันธ์และมิตรภาพที่ดี เป็นสื่อกลางที่สร้างให้เกิดการยอมรับในความสามารถ เสริมสร้างทัศนคติที่ถูกต้องต่อคนพิการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

องค์กรเครือข่ายข้างต้นจึงได้ร่วมกันพัฒนา “โครงการศิลปะดนตรีเปลี่ยนชีวิต” ขึ้นมา เพื่อเป็นการเปิดพื้นที่และเวทีในการจัดแสดงผลงานศิลปะและดนตรีของคนพิการเผยแพร่ออกสู่สังคม โดยได้รวบรวมและเปิดรับสมัครเพื่อคัดเลือกการแสดงจากวงดนตรีและศิลปินพิการและวงดนตรีนิสิต/นักศึกษาจากทั่วทั้งประเทศ และเชื้อเชิญศิลปินพิการจากเครือข่ายนานาชาติ รวมทั้งศิลปินรับเชิญที่มีชื่อเสียง มาร่วมแสดงบนเวทีเดียวกันอีกครั้ง นอกจากนั้นแล้วยังจะมีซุ้มนิทรรศการสาธิตและจัดแสดงผลงานศิลปะ หัตถกรรม จากเครือข่ายภายในประเทศและนานาชาติ นิทรรศการแสดงเรื่องราวชีวิตและผลงานของคนพิการ ในหัวข้อ “ศิลปะดนตรีเปลี่ยนชีวิต” ซุ้มจัดแสดงอุปกรณ์และเครื่องดนตรี เทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่เกี่ยวข้องกับงานดนตรีและศิลปะจากหน่วยงานต่างๆ และ/หรือซุ้มสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับดนตรีศิลปะ จัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “ศิลปะดนตรีเปลี่ยนชีวิต” โดยศิลปินพิการและศิลปินรับเชิญ และเปิดตัวอัลบั้มเพลงจากศิลปินคนพิการของเครือข่ายศิลปะดนตรีคนพิการ ฯลฯ โดยทั้งหมดนี้ เพื่อมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้สังคมประจักษ์ในความสามารถและผลงานของคนพิการ เพื่อแสดงให้เห็นถึงภาพการทำงานร่วมกันระหว่างศิลปินพิการและไม่พิการ และเพื่อส่งเสริมให้คนในสังคมมีความเข้าใจ และมีเจตคติที่ถูกต้องต่อคนพิการโดยใช้ดนตรีและศิลปะเป็นสื่อกลางในการสื่อสารกับสังคม อันจะนำมาซึ่งความเสมอภาค เท่าเทียม เพื่อไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและสิ่งแวดล้อมในวันข้างหน้า

นอกจากนี้แล้วการจัดแสดงงานศิลปะดนตรีคนพิการในครั้งนี้ ยังสามารถใช้เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการช่วยประชาสัมพันธ์เรื่องการท่องเที่ยวที่เอื้ออำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุได้อีกด้วย ซึ่งในขณะนี้หลาย ๆ ประเทศได้หันมาให้ความสำคัญแก่นักท่องเที่ยวในกลุ่มดังกล่าวนี้มากขึ้น รวมทั้งประเทศไทยของเราเอง ซึ่งเห็นได้จากการที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ดำเนินนโยบายแผนการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เอื้ออำนวยความสะดวกแก่คนพิการและผู้สูงอายุตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 – 2554 โดยใช้ปฏิญญากรุงเทพว่าด้วยการท่องเที่ยวที่เอื้ออำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ พ.ศ. 2550 (Bangkok Recommendations on Accessibility Tourism 2007) เป็นแนวทางในการจัดทำนโยบาย ด้วยเหตุนี้ ในการจัดแสดงงานศิลปะดนตรีคนพิการในครั้งนี้ จึงได้จัดให้มีกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมแก่คนพิการด้วย โดยจะจัดเป็นกิจกรรมหนึ่งวัน เพื่อให้ศิลปินคนพิการได้มีโอกาสท่องเที่ยวและสำรวจสิ่งอำนวยความสะดวกตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ที่มีความสำคัญในเชิงของศิลปะและวัฒนธรรมของกรุงเทพมหานครหรือจังหวัดใกล้เคียง และในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ จะมีการเชิญองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กองการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร เป็นต้น เข้าร่วมกิจกรรมด้วย

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมการแสดงออกศักยภาพทางด้านดนตรี ศิลปะ และวัฒนธรรมของคนพิการ
  2. เพื่อเสริมสร้างทัศนคติที่ถูกต้องในเรื่องคนพิการแก่สังคม โดยใช้ดนตรีและศิลปะเป็นสื่อกลางในการสื่อสารกับสังคม
  3. เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็งด้านดนตรี ศิลปะและวัฒนธรรมของคนพิการในประเทศไทยและในระดับนานาชาติ
  4. เพื่อยกระดับงานด้านดนตรีและศิลปะของคนพิการให้เป็นที่ยอมรับในสังคม
  5. เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมของคนพิการในประเทศไทย

กลุ่มเป้าหมาย

  1. เครือข่าย/องค์กร/ศิลปิน คนพิการภายในประเทศ จำนวน 50 คน
  2. เครือข่าย/องค์กร คนไม่พิการภายในประเทศ จำนวน 50 คน
  3. เครือข่ายศิลปินพิการเอเชียและแปซิฟิกวาตาโบชิ (Asia Pacific Wataboshi) และเครือข่ายต่างประเทศอื่นๆ จำนวน 2 – 3 ประเทศๆ ละ 4 คน รวม 8 – 12 คน
  4. ศิลปินรับเชิญภายในประเทศ จำนวน 3 – 5 คน
  5. สื่อมวลชน จำนวน 50 คน
  6. คนพิการ จำนวน 150 คน
  7. อาสาสมัครช่วยงาน/ช่วยคนพิการ/ล่ามภาษาพูด/ภาษามือ จำนวน 30 คน
  8. ประชาชนทั่วไป จำนวน 1,500 คน

พื้นที่ดำเนินการ

สวนสันติชัยปราการ ถนนพระอาทิตย์ กรุงเทพมหานคร

รูปแบบของการจัดงาน

จัดเทศกาลแสดงดนตรี ศิลปะ วัฒนธรรม และนิทรรศการแสดงผลงานทางศิลปะและดนตรีของคนพิการ นานาชาติ

ระยะเวลา

ระยะเวลาโครงการฯ สิงหาคม 2551 ถึง 31 มีนาคม 2552

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

  1. คนพิการในประเทศไทยได้พัฒนาศักยภาพในการร้องเพลง แต่งเพลง และการเล่นดนตรีมากขึ้น
  2. สังคมได้ตระหนักถึงความสามารถของคนพิการ มีความเข้าใจ และยอมรับคนพิการมากขึ้น แสดงให้เห็นถึงภาพการทำงานร่วมกันระหว่างคนพิการและบุคคลทั่วไปได้ดี
  3. เกิดเครือข่ายคนพิการในงานศิลปะดนตรีภายในประเทศและในระดับภูมิภาคเอเชีย
  4. คนพิการหันมานิยมและใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ด้วยการทำงานศิลปะ หรือเล่นดนตรี หรือจริงจังกับงานศิลปะดนตรีมากขึ้น
  5. งานศิลปะดนตรีช่วยพัฒนาด้านกายภาพ สุขภาพ และจิตใจของคนพิการให้เข้มแข็งและแข็งแรงขึ้น
  6. สามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมของคนพิการในประเทศไทยให้เป็นที่นิยมมากขึ้น

การขยายผล

  1. คนพิการเข้าร่วมกิจกรรมต่อไปของเครือข่ายศิลปะดนตรีคนพิการ และมูลนิธิเพื่อเด็กพิการ เช่น การสมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นตัวแทนคนพิการไทย ไปร่วมงานมหกรรมดนตรีเอเชียแปซิฟิกวาตาโบชิ ครั้งที่ 10 ณ ประเทศเกาหลีใต้ ในปี 2552
  2. คนพิการมีการพัฒนาความรู้ ความสามารถทางด้านศิลปะดนตรี และอาจสร้างผลผลิต จัดจำหน่าย เพื่อสร้างรายได้ ยึดเป็นอาชีพเลี้ยงตัวได้ต่อไป

การประเมินผล

  1. เก็บบันทึกข้อมูลสถิติผู้เข้าร่วมชมการแสดงงาน/กิจกรรม
  2. จัดเตรียมกระดานให้เขียนข้อความแสดงความคิดเห็นต่องาน
  3. สังเกตพฤติกรรมและแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงของคนพิการ

ตัวชี้วัด

  1. มีคนพิการที่มีฝีมือและมีคุณภาพสนใจเข้าร่วมกิจกรรมและการแสดงบนเวที จำนวน 15 – 20 คน
  2. มีเครือข่ายต่างๆ ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรม 10 – 15 องค์กร
  3. มีผู้สนใจเข้าร่วมชมการแสดงงาน/กิจกรรม จำนวน 1,500 คน


The United Nations Convention on the Right of Persons with Disabilities
Countries are to promote participation in cultural life, recreation, leisure and sport by ensuring provision of television programmes, films, theatre and cultural material in accessible formats, by making theatres, museums, cinemas and libraries accessible, and by guaranteeing that persons with disabilities have the opportunity to develop and utilize their creative potential not only for their own benefit, but also for the enrichment of society. Countries are to ensure their participation in mainstream and disability-specific sports (Article 30) – http://www.un.org/disabilities/default.asp?navid=13&pid=162

ย้อนกลับ