GooD Show Project

หลักการและเหตุผล

  • GooD Show Project คือ

    โครงการที่ต้องการส่งเสริม สนับสนุนความสามารถในการแสดงออกด้านดนตรีของคนพิการ ให้พวกเขาได้ใช้ศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่ รวมถึงพัฒนาศักยภาพให้ถึงขีดสูงสุดที่จะทำได้

  • ความตั้งใจของ GooD Show Project

    เพลงที่ดีมีคุณภาพต้องการโชว์ที่ดีเสมอ ดังนั้น การแสดงหรือโชว์ คืออีกหัวใจหลักที่จะทำให้เจ้าของบทเพลงสามารถสื่ออารมณ์ ความรู้สึกให้เข้าถึงและมัดใจผู้ที่ได้รับชมและรับฟังได้อย่างสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น ด้วยเนื้อร้องที่กลั่นกรอง ทำนองที่สร้างสรรค์จากคนพิการ พวกเขาล้วนมีหัวใจที่ใฝ่ฝันและต้องการเป็นศิลปินสามารถยืนโชว์อย่างองอาจบนเวทีที่ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่เพื่อถ่ายทอดเสียงเพลง คำร้อง ทำนอง ทำให้ผู้ชมที่เขาอาจมองไม่เห็นก็ตาม มีความสุขในขณะที่ได้รับฟังหรือแม้แต่แอบคิดถึงและชื่นชมพวกเขายามที่กลับไปแล้ว ทำให้เกิดเป็นกำลังใจต่อไป

  • ประเด็นปัญหาทางสังคมที่ต้องการแก้ไข

    จากการดำเนินงานของเครือข่ายศิลปะดนตรีคนพิการ (ศดพ.) ในการพัฒนาศักยภาพด้านดนตรีของคนพิการตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมารวมทั้งในแวดวงด้านดนตรีของคนพิการทั่วไป พบว่า การส่งเสริมความสามารถด้านดนตรีของคนพิการเพื่อให้เป็นที่ยอมรับได้อย่างแท้จริง มีโอกาสในการก้าวไปสู่ความเป็นมืออาชีพและสามารถที่จะดำรงชีวิตด้วยงานด้านดนตรีได้นั้น นอกจากการมีทักษะ ความรู้ ความสามารถที่ดี หรือมีผลงานเพลงคุณภาพแล้ว การแสดงหรือการโชว์บนเวทีเพื่อที่ให้ผู้ชมได้รับอรรถรสและความบันเทิงในการชมการแสดงอย่างเต็มที่และสมบูรณ์โดยมองข้ามผ่านความบกพร่องไปจนหมดสิ้นเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง
    ปัญหาที่ทำให้การแสดงหรือการโชว์บนเวทีของคนพิการขาดอรรถรสในการชม มีสาเหตุมาจากการขาดทักษะการแสดงบนเวทีของนักร้องและนักดนตรีคนพิการ ปัจจุบันมีสถาบันการสอนดนตรีและศิลปะการแสดงอยู่มากมายแต่ก็ยังไม่มีหลักสูตรการเรียนการสอนและผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะการแสดงสำหรับคนพิการโดยเฉพาะ ถึงแม้ว่านักร้องและนักดนตรีพิการจะมีข้อจำกัดทางร่างกายแต่ ศดพ. เชื่อว่าพวกเขาสามารถนำเสนอการแสดงหรือโชว์ที่ดีได้เฉกเช่นกับศิลปินทั่วไป หากได้รับการฝึกฝนและพัฒนาศักยภาพจนถึงขีดสูงสุด
    ศดพ. ได้รวบรวมปัญหาในการพัฒนาศักยภาพด้านการแสดงของคนพิการแบ่งออกเป็น 4 ด้านดังนี้
    1. ด้านหลักสูตร: ต้องการหลักสูตรที่เป็นหลักสูตรเฉพาะที่จะบริหารการอบรมและมีมาตรฐานที่เหมาะสมสำหรับคนพิการ
    2. ด้านบุคลากร: ต้องการผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความสามารถพิเศษเฉพาะด้านและมีความเข้าใจความพิการ
    3. ด้านสถานที่: ต้องเป็นสถานที่ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกและมีความเหมาะสมสำหรับผู้เรียนซึ่งเป็นคนพิการ
    4. ด้านอุปกรณ์: ต้องมีลักษณะพิเศษและมีความเหมาะสมกับความพิการประเภทต่างๆ
    วัตถุประสงค์: เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านศิลปะการแสดงบนเวทีของนักร้องและนักดนตรีคนพิการ

  • กลุ่มเป้าหมาย

   นักร้องและนักดนตรีคนพิการ ชายและหญิง จำนวน 8 คน

  • ระยะเวลา

   6 เดือน

  • วิธีการ

    1. รวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์หลักสูตรด้านศิลปะการแสดง
    2. กำหนดหลักสูตรเฉพาะที่มีความเหมาะสมกับประเภทความพิการ
    3. จัดหาวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญและเหมาะสม
    4. คัดเลือกสถานที่ที่มีความเหมาะสมและมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ
    5. จัดหาอุปกรณ์ที่เหมาะสม
    6. เปิดรับและคัดเลือกนักร้องและนักดนตรีคนพิการที่มีความสนใจ จำนวน 8 คน
    7. จัดเวิร์คช็อปพัฒนาศักยภาพด้านศิลปะการแสดง หลักสูตร 48 ชั่วโมง
    8. ประเมินผลการสอนและพัฒนาการของผู้เข้าร่วมโครงการ ทุก 4 สัปดาห์
    9. สรุปผลการดำเนินงาน

  • เครื่องมือ

    1. หลักสูตร
    2. วิทยากร
    3. สถานที่
    4. อุปกรณ์และสื่อการเรียนการสอน

  • กิจกรรมหลัก

    1. จัดการประชุมเตรียมหลักสูตรและวิธีการสอนและการประเมินผลการดำเนินงาน รวมจำนวน 3 ครั้ง
    2. จัดเวิร์คช็อปพัฒนาศักยภาพด้านศิลปะการแสดงบนเวที (Live Performance Training) เนื้อหาหลักประกอบด้วย
    o ฝึกการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อและร่างกาย
    o ฝึกการเคลื่อนไหวตามจังหวะ
    o ฝึกการสื่อสารด้วยภาษากาย
    o ฝึกวิธีการสื่อสารกับผู้ชม

    ความแตกต่างของวิธีการจากปกติและนวัตกรรม

    การจัดเวิร์คช็อปด้านศิลปะการแสดงบนเวทีให้กับนักร้องและนักดนตรีคนพิการ จะเน้นไปที่การฝึกการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อและร่างกาย การเคลื่อนไหวตามจังหวะ และการสื่อสารผ่านวิธีการต่างๆ เช่น
    o วิธีสัมผัสการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ การโยกย้าย ขยับร่างกาย หรือการเคลื่อนที่ไปด้วยกันเพื่อนำทางให้คนพิการทางการเห็นซึ่งไม่เคยเห็นภาพหรือท่าทางการเคลื่อนไหวมาก่อนสามารถใช้กล้ามเนื้อ ร่างกายหรือการเคลื่อนไหวได้อย่างปลอดภัยไม่เกิดอันตราย แต่มีความสวยงาม น่าดูและเป็นธรรมชาติมากขึ้น
    o วิธีการให้จังหวะเป็นเสียงเคาะ เสียงตบ ฯลฯ
    นอกจากนั้นแล้ว ศดพ. จะนำผลการดำเนินงานที่ได้จาก GooD Show Project มาวิเคราะห์เพื่อพัฒนาเป็นหลักสูตรต้นแบบในการพัฒนาศักยภาพคนพิการด้านศิลปะการแสดงต่อไป ไม่ว่าจะเป็นวิธีการสอน เทคนิค อุปกรณ์และวิธีการถ่ายทอด สื่อสารที่มีความเหมาะสมกับคนพิการแต่ละประเภท ฯลฯ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของ ศดพ. ที่ต้องการจะก้าวไปสู่การเป็นสถาบันด้านการพัฒนาศักยภาพด้านดนตรีและศิลปะการแสดงของคนพิการที่ครบวงจรในอนาคต
    GooD Show Project เกิดจากแนวคิดและความร่วมมือของเครือข่ายการทำงานของ ศดพ. ภายใต้แนวคิด “โชว์ดีมีความสุข” ด้วยรูปแบบการทำงานร่วมกันอย่างมีความสุขทุกด้าน เสริมสร้างสุขภาวะทางจิตใจของทุกคน
    o ความสุขของผู้แสดง เกิดจากการที่ได้รู้ว่าพวกเขาสามารถ “ทำได้” และเสียงปรบมือที่มาจากใจของผู้ชม สร้างสรรค์พลังที่ยิ่งใหญ่และความมั่นใจอย่างสูงสุด
    o ความสุขของผู้ชม เมื่อได้เห็นความสามารถที่มาจากความตั้งใจอันสูงสุดของผู้แสดง และสัมผัสได้ถึงอรรถรสและความสนุกสนานเพลิดเพลินที่แท้จริง

    ผลกระทบทางสังคมที่คาดว่าจะเกิดขึ้น

    เมื่อนักร้องและนักดนตรีคนพิการได้รับการพัฒนาความสามารถจนถึงขีดสูงสุด และถูกนำเสนอพร้อมกับศิลปะการแสดงที่น่าดูน่าชมในฐานะของการเป็นผู้สร้างสรรค์งานดนตรีที่มีคุณภาพ สร้างสรรค์ความสุขความบันเทิงที่สมบูรณ์ จนกระทั่งเกิดเป็นโชว์ที่ดี จะทำให้:-
    o สังคมได้ตระหนักและยอมรับถึงความสามารถด้านดนตรีของคนพิการได้อย่างแท้จริง
    o เป็นพลังและสร้างสรรค์แรงบันดาลใจให้กับคนพิการและไม่พิการ
    o นักร้องและนักดนตรีคนพิการได้รับความสุข ความภาคภูมิใจ เปี่ยมด้วยพลังกาย พลังใจอย่างสูงสุด
    o นักร้องและนักดนตรีคนพิการมีโอกาสก้าวไปสู่การเป็นศิลปิน
    o นักร้องและนักดนตรีคนพิการมีโอกาสในการสร้างรายได้หรือทำอาชีพด้านดนตรี สามารถที่จะยืนได้วยตนเอง แบ่งเบาภาระของครอบครัวและสังคม
    o นักร้องและนักดนตรีคนพิการสามารถนำความรู้ ความสามารถในด้านดนตรีกลับมาเป็นทุนสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้แก่สังคม
    o ครอบครัวของนักร้องและนักดนตรีคนพิการมีความสุข ลดภาระและความห่วงใยลง

ย้อนกลับ